บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2555

Das Parte du Sião… หลักฐานเกี่ยวกับสยาม

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

เมื่อวันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ผู้เขียนได้รับอภินันทนาการพัสดุไปรษณีย์ ชื่อ “Das Parte du Sião(หลักฐานเกี่ยวกับสยาม) ” ผู้จัดส่งให้ คือ ดร. มิเกล คัสเตลลู บรังกู (Migel Castelo Branco) นักประวัติศาสตร์และบรรณารักษ์อาวุโส หอสมุดแห่งชาติโปรตุเกส ดุษฎีบัณฑิตสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากสถาบันชั้นสูงด้านสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิทยาการแห่งลิสบัว (Instituto Superior de Ciências Sociais e Políticas da Universidade Técnica de Lisboa) ด้วยผลงานวิทยานิพนธ์เรื่อง “ ความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกสกับสยามในสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2525-2482) จึงขอแสดงความขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งมา ณ ที่นี้


“Das Parte du Sião”เป็นหนังสือประกอบการจัดนิทรรศการที่ระลึกความสัมพันธ์ 500 ปีระหว่างชาวลูโซ (โปรตุเกส) กับชาวไทย พ.ศ.2054-2554 หนา 118 หน้า บวกกับภาพประกอบพิเศษอีก 10 หน้า (ไม่ระบุเลขหน้า) รวมเป็น 128หน้า ภายในประกอบด้วยเนื้อหาสังเขปดังนี้


- 500 ปี แห่งความสัมพันธ์ระหว่างชาวลูโซกับชาวสยาม โดย ศาสตราจารย์ อันตอนิอู วาชกงเซลูช ดึ ซาดันญา(António Vasconcelos de Sadanha) มหาวิทยาลัยวิทยาการแห่งลิสบัว เป็นบทความสั้นๆ ยาว 3 หน้า กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดนิทรรศการ

-ยุคทองของชาวโปรตุเกสในสยาม(A Época de Ouro dos Protukét do Sião) โดย ดร. มิเกล คัสเตลลู บรังกู (Migel Castelo Branco) เป็นบทความมาตรฐานยาว 20 หน้า

-รายการเอกสารโบราณที่เกี่ยวข้องกับสยาม(Catálogo) ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่16-20 โดยระบุรายการอ้างอิง คำย่อที่ใช้ในหนังสือและแหล่งค้นคว้าเอกสารโบราณ รวมถึงหนังสือประวัติศาสตร์นิพนธ์และบทความวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่16, 20 และ21


ในส่วนบทความของดร. มิเกล คาสเตลลู บรังกู เรื่อง ยุคทองของชาวโปรตุเกสในสยามนั้น ดร.บรังกู คงต้องการจะเรียกคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสว่า “ชาวโปรตุเกต” (Protuget) ตามแบบอย่างคำไทยที่เรียกชาวโปรตุเกสโดยไม่การออกเสียงเน้น(accent)ตัวสะกด ส.เสือ อันเป็นลักษณะของการออกเสียงแบบไทย แต่เมื่อคำดังกล่าวถูกถ่ายกลับไปเป็นภาษาโปรตุเกส คือ “Protukét” เมื่ออ่านแล้วกลับต้องออกเสียงเป็น “โปรตุแคต” ไม่ใช่ “โปรตุเกต(Protuket” ตามเสียงในภาษาไทย


ผู้เขียนเคยเสนอในงานสัมมนาวิชาการ เรื่อง “ 500 ปี ความสัมพันธ์สยามประเทศกับโปรตุเกสและชาติตะวันตกในอุษาคเนย์ 2054-2554(25มกราคม 2555) ” จัดโดยโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย จำกัด มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยาและหน่วยงานต่างๆ ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยาว่า คนไทยเชื้อสายโปรตุเกสมีความภาคภูมิใจในความเป็นคนเชื้อสายโปรตุเกสมาอย่างเหนียวแน่นและยาวนาน


คุณศานติ สุวรรณศรี เล่าให้ฟังถึงคำสอนของมารดาเมื่อครั้งยังเด็กอันชวนให้ตื้นตันใจว่า “ลูกต้องจำไว้ว่าเรามันพวกโปรตุเกสนะลูก”การที่นักประวัติศาสตร์โปรตุเกสบันทึกคำเรียกคนไทยเชื้อสายโปรตุเกส ว่า “ชาวโปรตุเกต หรือ โปรตุแกต” อาจถือเป็นการแบ่งแยกพวกเขาออกจากความเป็น “โปรตุเกส” แบบขาดการเข้าถึงจิตใจของกลุ่มชนที่เคยร่วมวัฒนธรรมโปรตุเกสด้วยกันมาก่อน แม้ในปัจจุบันความเป็น“โปรตุเกส”ทางด้านกายภาพ ความเป็นอยู่ ภาษาและวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสจะเจือจางลงไปมากแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่เชื่อมโยงความเป็นโปรตุเกสของพวกเขาไว้อย่างเหนียวแน่นและมั่นคง คือ ความเป็นชาวคริสตัง

วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555

กรณีพิพาทกับฝรั่งเศส (เหตุการณ์ร.ศ.112): การพลีชีพในอีสานเพื่อรักษาเขตแดนสยาม

โดย

พิทยะ ศรีวัฒนสาร


ผู้เขียนไม่เห็นด้วยที่มหาฤาษีตนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสันร่ายมนตราไว้ว่า รัฐสมัยเก่าไม่ถือการครอบครองดินแดนเป็นเรื่องสำคัญ อย่างน้อยกรณีพิพาทสยาม-อินโดจีนฝรั่งเศส (เหตุการณ์ร.ศ.112) ซึ่งปรากฏเรื่องราวอยู่ในเอกสารจำนวนมาก ก็สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของทางการสยามในการปกป้องพระราชอาณาเขตอย่างเต็มกำลังสามารถ


มูลเหตุของความขัดแย้งในเหตุการณ์ร.ศ.112 เบื้องต้นมาจากความพยายามขยายอิทธิพลของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสต่อเนื่องมาทางตะวันตกเข้าสู่ตะวันออกเฉียงเหนือของสยาม [1] พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ ผลงานการเรียบเรียงของหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) สะท้อนให้เห็นความเสียสละของข้าราชการไทยทั้งฝ่ายหัวเมือง ข้าราชการส่วนกลางและเจ้าพนักงานแผนที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ ณ ชายแดน เพื่อปกป้องเขตขัณฑสีมาขณะนั้นอย่างเต็มความสามารถ


กรณีพิพาทสยาม-อินโดจีนฝรั่งเศส (เหตุการณ์ร.ศ.112) ปรากฏเรื่องราวอยู่ในเอกสารจำนวนมาก มูลเหตุของความขัดแย้งมาจากความพยายามขยายอิทธิพลของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสต่อเนื่องมาทางตะวันตกเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสยาม [2] พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ ผลงานการเรียบเรียงของหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) สะท้อนให้เห็นสำนึกความหวงแหนอธิปไตยของมาตุภูมิและความเสียสละของข้าราชการไทยทั้งฝ่ายหัวเมือง ข้าราชการส่วนกลางและเจ้าพนักงานแผนที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ ณ ชายแดนขณะนั้น


สาเหตุเริ่มต้นเมื่อวันที่31มีนาคม พ.ศ.2436 “รัฐบาลฝรั่งเศสแต่งให้เรสิดองปัสตาเปนแม่ทัพ พร้อมด้วยนายร้อยเอกโทเรอ แลนายร้อยตรีโมโซ แลมองซิเออปรุโช คุมทหารญวนเมืองไซ่ง่อน200 คน แลกำลังเมืองเขมรพนมเปน ๆ อันมากลงเรือ 33 ลำ พร้อมด้วยสาตราวุธยกเปนกระบวนทัพขึ้นมาตามลำน้ำโขง เข้ามาในพระราชอาณาเขตร ขับไล่ทหารซึ่งรักษาด่านบงขลาแขวงเมืองเชียงแตง แลด่านเสียมโบก ยึดเอาด่านทั้ง 2 ตำบลได้แล้ว


วันที่ 2 เมษายน ร.ศ. 112 ฝรั่งเศสก็เคลื่อนทัพถึงเมืองเชียงแตง บังคับหลวงพิพิธสุนทร (อิน) และนายร้อยโทคร้ามข้าหลวงกับทหาร 12 คน ซึ่งอยู่รักษาเมืองเชียงแตงให้ข้ามไปอยู่ ณ เมืองธาราบริวัตรฝั่งโขงตะวันตก โดยอ้างเหตุว่า ดินแดนในฝั่งโขงตะวันออกและเกาะดอนในลำน้ำโขงเป็นเขตแขวงของญวนซึ่งอยู่ใน “บำรุงฝรั่งเศส”


เวลานั้น ข้าหลวง ผู้รักษาเมือง กรมการ และราษฎรเมืองเชียงแตงไม่ทันรู้ตัว“ก็พากันแตกตื่นควบคุมกันมิติด” เพราะไม่คิดว่าฝรั่งเศส“จะเปนอมิตรขึ้น” ดังนั้นก่อนที่จะประกาศแสดงขาดทางพระราชไมตรีฝ่ายข้าหลวงกับพลทหาร 12 คนจำต้องออกจากเมืองเชียงแตง ข้ามมาอยู่ ณ เมืองธาราบริวัตร ครั้นฝรั่งเศสได้เมืองเชียงแตงแล้ว ก็แต่งนายทัพนายกองคุมทหารแยกย้ายกันยกเป็นกระบวนทัพล่วงเข้ามาตั้งอยู่ตาม เกาะดอนต่าง ๆ ณ แก่งลีผี และเดินกระบวนทัพ เข้ามาโดยทางบก ตลอดฝั่งโขงตะวันออกจนถึงเมืองหลวงพระบาง


พระประชาคดีกิจ (แช่ม) ข้าหลวงส่วนหน้าหัวเมืองลาวฝ่ายใต้ ณ เมืองสีทันดร เห็นว่าฝรั่งเศสประพฤติผิดสัญญาทางพระราชไมตรี จึงให้ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือนในบังคับบัญชาคุมกำลังแยก ย้ายไปตั้งป้องกันกองทัพฝรั่งเศสไว้ แล้วมีหนังสือไปห้ามปรามกองทัพฝรั่งเศสตามทางพระราชไมตรี เพื่อให้ยกถอนกองทัพกลับออกไปเสียให้พ้นพระราชอาณาเขต


แต่ฝรั่งเศสกลับยกกองทหารรุดล่วงเข้ามา โดยทหารกองหนึ่ง มีกำลังอาวุธประมาณ 400 คนเศษ ยกมาทางเรือ 26 ลำ เข้าจอด ณ ดอนละงา แล้วขึ้นบกมาบนดอน ขณะนั้นหลวงเทเพนทรเทพ ซึ่งคุมกำลังยกไปตั้งอยู่ ณ ดอนนั้นจึงได้ออกไปบอกให้ฝรั่งเศสยกกองทัพกลับออกไปจากพระราชอาณาเขตสยาม ฝรั่งเศสกลับอ้างว่าที่ตำบลเหล่านั้นเป็นของฝรั่งเศส ให้หลวงเทเพนทร์ยกกำลังไปเสียถ้าไม่ไปจะรบ แล้วก็เป่าแตรเรียกทหารเข้าแถวเตรียมรบ


หลวงเทเพนทร์เห็นว่า ห้ามปรามทหารฝรั่งเศสไม่ฟัง จึงได้ถอยมาตั้งอยู่ ณ ดอนสม และแจ้งข้อราชการยังพระประชาคดีกิจ พระประชาคดีกิจจึ่งได้ “เขียนคำโปรเตศ”[3] ยื่นต่อฝรั่งเศส และลงเรือน้อยไปหาฝรั่งเศส ณ ค่ายดอนสาคร ถามได้ความว่า นายทหารฝรั่งเศสซึ่งเป็นแม่ทัพในกองนี้ ชื่อ เรสิดองโปลิติก และ กอมมันดองมิลิแตร์


พระประชาคดีกิจได้ยืนยันต่อนายทัพฝรั่งเศสว่า ที่ตำบลเหล่านี้เป็นพระราชอาณาเขตรสยาม การยกทัพล่วงเข้ามาเป็นการละเมิดสัญญาทางพระราชไมตรี ขอให้รีบยกทหารกลับออกไปเสีย


ฝ่ายนายทัพฝรั่งเศสตอบว่าราชทูตไทยที่ปารีสกับรัฐบาลสยามที่กรุงเทพ ฯ ได้ยอมยกที่ตำบลเหล่านี้ และดินแดนตามลำแม่น้ำโขงทั้งหมดให้แก่ฝรั่งเศสแล้ว


พระประชาคดีกิจจึงตอบว่า จะยอมเชื่อตามถ้อยคำของฝรั่งเศสมิได้ เพราะยังไม่ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลสยาม ขอให้ฝรั่งเศสยกทหารถอยออกไปเสียให้พ้นพระราชอาณาเขตก่อน แต่ฝรั่งเศสไม่ยอมถอนไป พระประชาคดีกิจ จึ่งยื่นคำ “โปรเตศ” ไว้ต่อนายทัพฝรั่งเศส แล้วลากลับมา


ฝ่ายฝรั่งเศสได้ยกทัพล่วงล้ำเข้ามาเป็นอันดับ และยังได้ระดมยิงกองทหารฝ่ายสยามซึ่งไปตั้งป้องกันรักษาขึ้นก่อน ถึงกระนั้น “กองรักษาฝ่ายสยาม” ก็หาได้ยิงโต้ตอบต่อสู้ไม่ โดยถือว่ากรุงฝรั่งเศสกับประเทศสยามยังมิได้ขาดจากสัญญาทางพระราชไมตรีกัน เพราะรัฐบาลสยามยังมิได้มีคำสั่งไปให้ต่อสู้ฝรั่งเศสประการใดไม่ จึงได้แต่เพียงให้ตั้งรักษามั่นอยู่ แลได้พยายามทุกอย่าง ที่จะมิให้มีความบาดหมางต่อทางพระราชไมตรี และทั้งได้มีหนังสือห้ามปรามไปด้วยแล้ว


แต่ฝรั่งเศสกลับระดมยิงปืนใหญ่น้อยมายังกองรักษาฝ่ายสยาม “เปนสามารถ” ฝ่ายสยามจึ่งได้ยิงโต้ตอบไปบ้างแต่เล็กน้อยโดยมิได้มีเจตนาที่จะทำลายชีวิตผู้คน เป็นแต่แสดงให้เห็นว่าฝ่ายไทยก็มีปืน แต่ฝ่ายฝรั่งเศสก็ยิ่งหนุนเนื่องรุกรบเข้ามาทุกที จนเจ้าหน้าที่ฝ่ายสยามเห็นว่าเหลือกำลังที่จะห้ามปรามและปฏิบัติจัดการโดยดีกับฝรั่งเศสได้แล้ว จึงจำเป็นต้องจัดกองรบออกระดมยิงต่อสู้บ้าง เพื่อรักษาความเป็นอิสรภาพและป้องกันชีวิตของประชาชนชายหญิงอันอยู่ในความปกครองไว้ “แลทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องอาวุธป่วยตายแลตั้งประชันหน้ากันอยู่”


การตอบโต้ของทางการสยาม


เมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวกาว ซึ่งประทับอยู่ ณ เมืองอุบล ทรงทราบว่าฝรั่งเศส “แสดงเปนอมิตร” ขึ้นดังนั้นแล้ว จึ่งได้โปรดให้เกณฑ์กำลังเมืองศรีสะเกษ เมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ เมืองมหาสารคาม เมืองร้อยเอ็ด (เมืองละ 800 คน) เมืองสุวรรณภูมิ เมืองยโสธร (เมืองละ500 คน) และให้เกณฑ์เมืองขุขันธ์อีก500คน ให้พระศรีพิทักษ์ (หว่าง) ข้า หลวงเมืองขุขันธ์คุมไปตั้งรักษาอยู่ ณ เมืองมโนไพร และเมืองเซลำเภา โปรดให้หลวงเทพนรินทร์ (วัน) ซึ่งกลับจากหน้าที่เมืองตะโปนไปเป็นข้าหลวงแทนพระศรีพิทักษ์อยู่เมืองขุขันธ์ และให้นายสุจินดา ขุนอินทรประสาท (กอน) นายร้อยตรีคล้าย นายร้อยตรีโชติ คุมทหาร 100คน และกำลัง 500 คน พร้อมด้วยสาตราวุธ เป็นทัพหน้า รีบยกออกจากเมืองอุบลแต่วันที่ 10 เมษายน ลงไปสมทบช่วยพระประชาคดีกิจ ณ เมืองสีทันดร


วันที่ 24 พฤษภาคม พระณรงค์วิชิต (เลื่อน) ได้ให้กำลังไปรักษาค่ายที่ดอนเดชไว้ตามเดิม และแต่งกองซุ่มไปอยู่ดอนตาล ดอนสะดำ คอยตีตัดมิให้ฝรั่งเศสเวียนเดินเรือเข้ามาในช่องได้
การใช้บทพระอัยการศึกจัดการกับทหารหนีทัพ


เพี้ยศรีมหาเทพ นครจำปาศักดิ พาพล 19 คนหนี อุปฮาด (บัว) เมืองกมลาไศรย ซึ่งตั้งค่ายอยู่ตำบลชลเวียงจับได้ พระประชาคดีกิจได้ปรึกษาโทษให้ประหารชีวิตตามบทพระอัยการศึก ฝ่ายนายทัพนายกองได้ขอชีวิตไว้ พระประชา (แช่ม) จึ่งได้ให้ทำโทษ เฆี่ยนเพี้ยศรีมหาเทพ 90ที พวกพลคนละ 30 ที


วันที่ 7สิงหาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้พระยาศรีสิงหเทพ (ทัด) ออกจากอุบล นำข้อราชการไปทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ณ เมืองนครราชสีมา และโปรดให้หลวงธนะผลพิทักษ์ (ดิศ) และ ขุนชาญรณฤทธิ (ชม) ข้าหลวงนครราชสีมาไปรับราชการมณฑลลาวกาว


การทำแผนที่พระราชอาณาเขตชายแดนอีสานใต้และตะวันออก


วันที่14 สิงหาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้นายเพิ่มพนักงานแผนที่ ไปตรวจทำแผนที่ตั้งแต่เมืองชาณุมานมณฑล ไปโขงเจียง ปากมูล และตามสันเขาบันทัด จนถึงช่องโพยแขวงเมืองขุขันธ์


วันที่ 3 กันยายน นายร้อยโทพุ่มได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เป็นนายร้อยเอก ขุนโหมหักปัจนึก นายร้อยตรีถมยา เป็นนายร้อยเอกขุนอึกอธึกยุทธกรรม


วันที่ 14 ตุลาคม นายร้อยตรีเชิด เป็นลมชิวหาสดมภ์ถึงแก่กรรม[4]


ครั้นวันที่ 11มิถุนายน เวลาบ่าย 4 โมง ฝรั่งเศสก็ระดม ยิงปืนใหญ่น้อยกระสุนแตกมาที่ค่ายสยาม ณ ดอนเดช 15 ครั้งแล้วก็สงบไป


ครั้นเวลาย่ำรุ่งฝรั่งเศสยิงอิกพักหนึ่ง จนโมงเช้าจึ่งหยุด ครั้นเวลาเย็นฝรั่งเศสยิงปืนใหญ่มา 1 นัด แลยิงปืนเล็ก 20 ตับ แล้วก็สงบไป


วันที่14มิถุนายนฝรั่งเศสยิงปืนเล็กกราดมาจากดอนคอน 10 ตับ เวลาเที่ยงยิง 6 ตับ เวลาบ่ายยิงปืนใหญ่1นัด ที่ค่ายดอนช้าง 1นัด แล้วต่างก็สงบไป


วันที่16 มิถุนายน เวลาเช้าฝรั่งเศสยกกองทหารขึ้นดอนเดช ถึงหัวดอนเดชตรงค่ายไทยที่ดอนหางสม เมื่อปักธงฝรั่งเศสลงแล้ว dHเป่าแตรให้ทหารระดมยิงค่ายหางสม ฝ่ายไทยได้ยิงโต้ตอบอยู่ประมาณชั่วโมงเศษ แล้วกองทหารฝรั่งเศสก็ล่าถอยกลับไป


ในค่ำวันที่16มิถุนายน คนตระเวนฝ่ายกองทัพไทยไปพบหนังสือที่ฝรั่งเศสปักไว้ ที่ดอนนางแอ่นจึงนำมาส่งพระประชา ในหนังสือนั้นเซ็นชื่อ กอมมันดันเดลาวิเล แม่ทัพฝรั่งเศส ถึงแม่ทัพไทยความว่า


“ดอนสมแลเกาะดอนฝั่งตวันออกเปนของฝรั่งเศส ให้ฝ่ายไทยถอยทัพไปเสีย ถ้าไม่ฟังจะขับไล่ พระประชาจึ่งตอบไปว่า ฝรั่งเศสฝันเห็นเอาเองผิดจากถ้อยคำของคนที่ถือสาสนาคฤส เตียน ถ้าฝรั่งเศสขืนบุกรุกมา ชาวประเทศสยามก็จำต้องต่อสู้มิให้ฝรั่งเศสดูหมิ่นได้”


จากนั้นพระประชาได้ให้นายสุกนายสิงปลอมเข้าไปในค่ายฝรั่งเศส กลับมาแจ้งว่าฝรั่งเศสกำลังหามเรือข้ามแก่งสมพมิตรมาแต่ท่าสนาม 17 ลำ และแต่งเรือเตรียมทัพจะยกอ้อมดอนตาลขึ้นทางฝั่งตะวันตกมาตีตัดหลังค่ายดอนสม ขนาบกับทัพบกจึงจะเดินมาทางดอนเดช พระประชาก็ได้จัดให้นายทัพนายกอง แยกย้ายกันออกไปตั้งกองรับกองทัพฝรั่งเศสทุกด้าน
……………………………………………………………………………………
หลังเหตุการณ์ร.ศ.112 สยามต้องเสียดินแดนจำนวนหนึ่งแก่รัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศส นอกจากหลักฐานประวัติศาสตร์จะบันทึกของความเจ็บปวดที่ผู้ปกครองสยามได้รับแล้ว ราษฎรอาสาสมัครและทหารจำนวนไม่น้อยสักข้อความแสดงให้เห็นถึงความเจ็บปวดจากความสูญเสียดังกล่าวด้วยข้อความว่า “ร.ศ.112”


ความรู้สึกผูกพันต่อบูรณาการของเขตแดนและความหวงแหนอธิปไตยในอดีตเป็นอารมณ์ที่เคยเกิดขึ้น แต่ช่างน่าอับอายเหลือเกิน เมื่อเวลาผ่านไปเพียง 100 ปีเศษ กลับมีมหาฤาษีและสานุศิษย์ผูกเรื่องโยงหลักฐาน เสนอนิทานแนวมาร์กซิสม์แล้วบอกต่อลูกหลานของบรรพบุรุษผู้พลีชีพรักษาพระราชอาณาเขตสยามขณะนั้นว่า “สยามไม่เคยเสียดินแดนดังกล่าว เพราะสยามไม่เคยครอบครองดินแดนนั้นๆ มาก่อน”

การอ้างอิง
[1] คัดจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ เมื่อปีเถาะ สัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ อ้างใน http://th.wikisource.org/wik ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง

[2] คัดจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ เมื่อปีเถาะ สัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ อ้างใน http://th.wikisource.org/wik ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง

[3] ประท้วง
[4] ลมชิวหาสดมภ์ ป็นโรคลมที่อยู่ในกลุ่มของลมสุมนา หรือ สุสมนา มีอาการสำคัญ คือ ลิ้นกระด้าง คางแข็ง เซื่องซึม เจรจามิได้ (ขอขอบคุณ http://www.healthbe1st.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539186963&Ntype=1)

วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

ตู่ ... ( discourse ) ! องค์หนึ่ง: ว่าด้วยทฤษฎี


โดย Bidya Sriwattanasarn เมื่อ 1 มีนาคม 2012 เวลา 17:27 น. ·

ตู่....เป็นทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ แปลมาจากคำว่า discourse ของมิเชล ฟูโกลต์ (Michel Foucault) นักคิดฝรั่งเศส แนวคิดเรื่อง "ตู่" นี้นักวิชาการไทยนำมาเผยแพร่ราว พ.ศ. 2524-2525 ในรูปแบบอลังการอย่าง rococo ว่า "วาทกรรม"


ทฤษฎี "ตู่" มีพิ้นฐานมาจากพยายามในการเชื่อมโยงเรื่องสำคัญ 3 ประการ เข้าด้วยกัน คือ ความรู้ อำนาจและความจริง กล่าวโดยรวมๆ ได้ว่า "ตู่" เป็นการสร้างความรู้ การผลิตความรู้หรือการนิยามความรู้บางอย่างขึ้นมาเพื่อให้มีอำนาจในการกำหนดความจริง

"ตู่" ถูกกล่าวถึงในรูป "วาทกรรม" จากคำอธิบายในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ดังนี้

"วาทกรรม (discourse) คือ รูปแบบของความคิด หรือ กรอบความคิด เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่มีลักษณะเป็นสถาบันและมีการสืบทอด "ซึ่งแสดงออกผ่านทางการพูดและเขียนอย่างจริงจัง/ประโยคหรือนิยามที่ใช้บ่อยๆ" เพื่อที่จะคงไว้ซึ่งลักษณะของวาทกรรมและการปรับเปลี่ยนลักษณะของวาทกรรมนั้นๆ


วาทกรรมแต่ละเรื่องมีระบบความคิด และเหตุผลของตน ในการอธิบายหรือมอง "ความจริง" ซึ่งวาทกรรมเรื่องเดียวกัน แต่ต่างระบบความคิดและเหตุผลก็จะมีความแตกต่างกันออกไป ในการให้อรรถาธิบายต่อเรื่องนั้น ๆ ดังนั้น ในเรื่องเดียวกันจึงมีวาทกรรมหลายชุดที่เกี่ยวข้องและวาทกรรมแต่ละชุดก็มีความขัดแย้ง หรือ ปฏิเสธ "ความจริง" ของวาทกรรมอีกชุดหนึ่งได้ นอกจากนี้แล้ว การเกิดขึ้นของวาทกรรมแต่ละชุดในแต่ละเรื่องย่อมมีจุดประสงค์ ตัวอย่างเช่น วาทกรรมของกลุ่มที่ต่อต้านเกย์ ก็มีจุดประสงค์เพื่อที่จะต่อต้านชายที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ และพยายามที่จะแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นพฤติกรรมที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของสังคม และยังเป็นการละเมิดบรรทัดฐานของสังคม ตลอดจนถือว่า พฤติกรรมเช่นนี้เป็นสิ่งผิดปกติและสมควรที่จะได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง เป็นต้น วาทกรรมแต่ละชุดในเรื่องเดียวกันจึงมีปฏิสัมพันธ์กันในเชิงขัดแย้งอยู่เสมอ แต่ละวาทกรรมต่างก็มีฐานทางความคิดที่สร้างขึ้นมาเพื่อสร้างความถูกต้องให้กับวาทกรรมของกลุ่มตน" (ขอขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย)


ในบริบททางวิชาการ ผลงานชิ้นใดมีโอกาสนำ "ตู่" มาใช้เชื่อมโยงอย่างสอดรับกับเหตุผลและหลักฐานประวัติศาสตร์ได้มากเพียงใด หรือ สะท้อนความคิดในการตอบโจทย์ต่อสังคมได้ลุ่มลึกน่าเชื่อถือมากเพียงใด ก็ยิ่งสร้างอำนาจในการผลิตความน่าเชื่อถือต่อความคิดตามโครงเรื่องของตนมากเพียงนั้น
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ สังคมอาจจะคิดตรงกันข้ามกับนักทฤษฎี "ตู่" ผู้นั้น

แม้ "ตู่" จะมีอิทธิพลต่อความคิดของนักวิชาการสายสังคมศาสตร์นานเกิน 30 ปี โดยผู้ใช้ทฤษฎี "ตู่" ของมิเชล ฟูโกลต์ในรูปของ "วาทกรรม- discourse" คนแรก คือ สมเกียรติ์ วันทะนะ บรรณาธิการการของจดหมายข่าวสังคมศาสตร์ แต่ผู้เขียนก็มีโอกาสได้เปิดหูเปิดตากับทฤษฎี "ตู่" ในรูปคำของ "วาทกรรม" เมื่อประมาณ พ.ศ. 2538 "แบบบ่งวย บ่งง" จากการยกขึ้นมาถกเถียงในชั้นเรียนของทวีศักดิ์ เผือกสม เพื่อนร่วมรุ่นผู้สนใจปรัชญาตะวันตกอย่างเร่าร้อน จากนั้นก็ได้อาศัยลมปากกระเซ็นกระสายจากทฤษฎี "ตู่" ของมิเชล์ ฟูโกลต์ ไปใช้"ประโดยคำ" ดวยความภาคภูมิใจ
ทฤษฎี "ตู่" ใช้กันมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในวงการน้ำหมึกและวงการข่าวจอแก้ว กิรได้เห็นมา ฤาษีใหญ่ ฤาษีน้อยเวลาจะทิ่มใคร ประเด็นไหนก็ต้องยก "ตู่" ขึ้นมาตกแต่งอาภรณ์คำ ..... ธำรงศักดิ์"ชี้" " วาทกรรม" สร้างสำนึก"เสียดินแดน" เป็นเครื่องมือกุมอำนาจ (ขอขอบคุณ www.matichon.co.th) เป็นต้น

นั่นคือ ธำรงศักดิ์เสนอว่า ความคิดเรื่องการเสียดินแดน เป็น "ตู่" ของผู้ปกครองในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ขณะเดียวกันหลักฐานต่างๆที่ธำรงศักดิ์นำมาอ้างอิงสนับสนุนแนวคิดตนก็เป็น "ตู่" อีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

ลักษณะดังกล่าวจึงเป็นเหมือนการสร้าง "ตู่ใหม่" ขึ้นมาล้มล้างความเชื่อของ "ตู่เก่า" หรือ จะกล่าวอีกนัย คือ เป็นการพยายามรวบรวมหลักฐานขึ้นมาเพื่อชี้ว่า "ตู่เก่า" เป็นความคิดผิดๆ ขอให้หันมาเชื่อ "ตู่ใหม่" กันเถิด.....นั่นเอง