บทความที่ได้รับความนิยม

วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

ตู่ ... ( discourse ) ! องค์หนึ่ง: ว่าด้วยทฤษฎี


โดย Bidya Sriwattanasarn เมื่อ 1 มีนาคม 2012 เวลา 17:27 น. ·

ตู่....เป็นทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ แปลมาจากคำว่า discourse ของมิเชล ฟูโกลต์ (Michel Foucault) นักคิดฝรั่งเศส แนวคิดเรื่อง "ตู่" นี้นักวิชาการไทยนำมาเผยแพร่ราว พ.ศ. 2524-2525 ในรูปแบบอลังการอย่าง rococo ว่า "วาทกรรม"


ทฤษฎี "ตู่" มีพิ้นฐานมาจากพยายามในการเชื่อมโยงเรื่องสำคัญ 3 ประการ เข้าด้วยกัน คือ ความรู้ อำนาจและความจริง กล่าวโดยรวมๆ ได้ว่า "ตู่" เป็นการสร้างความรู้ การผลิตความรู้หรือการนิยามความรู้บางอย่างขึ้นมาเพื่อให้มีอำนาจในการกำหนดความจริง

"ตู่" ถูกกล่าวถึงในรูป "วาทกรรม" จากคำอธิบายในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ดังนี้

"วาทกรรม (discourse) คือ รูปแบบของความคิด หรือ กรอบความคิด เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่มีลักษณะเป็นสถาบันและมีการสืบทอด "ซึ่งแสดงออกผ่านทางการพูดและเขียนอย่างจริงจัง/ประโยคหรือนิยามที่ใช้บ่อยๆ" เพื่อที่จะคงไว้ซึ่งลักษณะของวาทกรรมและการปรับเปลี่ยนลักษณะของวาทกรรมนั้นๆ


วาทกรรมแต่ละเรื่องมีระบบความคิด และเหตุผลของตน ในการอธิบายหรือมอง "ความจริง" ซึ่งวาทกรรมเรื่องเดียวกัน แต่ต่างระบบความคิดและเหตุผลก็จะมีความแตกต่างกันออกไป ในการให้อรรถาธิบายต่อเรื่องนั้น ๆ ดังนั้น ในเรื่องเดียวกันจึงมีวาทกรรมหลายชุดที่เกี่ยวข้องและวาทกรรมแต่ละชุดก็มีความขัดแย้ง หรือ ปฏิเสธ "ความจริง" ของวาทกรรมอีกชุดหนึ่งได้ นอกจากนี้แล้ว การเกิดขึ้นของวาทกรรมแต่ละชุดในแต่ละเรื่องย่อมมีจุดประสงค์ ตัวอย่างเช่น วาทกรรมของกลุ่มที่ต่อต้านเกย์ ก็มีจุดประสงค์เพื่อที่จะต่อต้านชายที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ และพยายามที่จะแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นพฤติกรรมที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของสังคม และยังเป็นการละเมิดบรรทัดฐานของสังคม ตลอดจนถือว่า พฤติกรรมเช่นนี้เป็นสิ่งผิดปกติและสมควรที่จะได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง เป็นต้น วาทกรรมแต่ละชุดในเรื่องเดียวกันจึงมีปฏิสัมพันธ์กันในเชิงขัดแย้งอยู่เสมอ แต่ละวาทกรรมต่างก็มีฐานทางความคิดที่สร้างขึ้นมาเพื่อสร้างความถูกต้องให้กับวาทกรรมของกลุ่มตน" (ขอขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย)


ในบริบททางวิชาการ ผลงานชิ้นใดมีโอกาสนำ "ตู่" มาใช้เชื่อมโยงอย่างสอดรับกับเหตุผลและหลักฐานประวัติศาสตร์ได้มากเพียงใด หรือ สะท้อนความคิดในการตอบโจทย์ต่อสังคมได้ลุ่มลึกน่าเชื่อถือมากเพียงใด ก็ยิ่งสร้างอำนาจในการผลิตความน่าเชื่อถือต่อความคิดตามโครงเรื่องของตนมากเพียงนั้น
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ สังคมอาจจะคิดตรงกันข้ามกับนักทฤษฎี "ตู่" ผู้นั้น

แม้ "ตู่" จะมีอิทธิพลต่อความคิดของนักวิชาการสายสังคมศาสตร์นานเกิน 30 ปี โดยผู้ใช้ทฤษฎี "ตู่" ของมิเชล ฟูโกลต์ในรูปของ "วาทกรรม- discourse" คนแรก คือ สมเกียรติ์ วันทะนะ บรรณาธิการการของจดหมายข่าวสังคมศาสตร์ แต่ผู้เขียนก็มีโอกาสได้เปิดหูเปิดตากับทฤษฎี "ตู่" ในรูปคำของ "วาทกรรม" เมื่อประมาณ พ.ศ. 2538 "แบบบ่งวย บ่งง" จากการยกขึ้นมาถกเถียงในชั้นเรียนของทวีศักดิ์ เผือกสม เพื่อนร่วมรุ่นผู้สนใจปรัชญาตะวันตกอย่างเร่าร้อน จากนั้นก็ได้อาศัยลมปากกระเซ็นกระสายจากทฤษฎี "ตู่" ของมิเชล์ ฟูโกลต์ ไปใช้"ประโดยคำ" ดวยความภาคภูมิใจ
ทฤษฎี "ตู่" ใช้กันมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในวงการน้ำหมึกและวงการข่าวจอแก้ว กิรได้เห็นมา ฤาษีใหญ่ ฤาษีน้อยเวลาจะทิ่มใคร ประเด็นไหนก็ต้องยก "ตู่" ขึ้นมาตกแต่งอาภรณ์คำ ..... ธำรงศักดิ์"ชี้" " วาทกรรม" สร้างสำนึก"เสียดินแดน" เป็นเครื่องมือกุมอำนาจ (ขอขอบคุณ www.matichon.co.th) เป็นต้น

นั่นคือ ธำรงศักดิ์เสนอว่า ความคิดเรื่องการเสียดินแดน เป็น "ตู่" ของผู้ปกครองในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ขณะเดียวกันหลักฐานต่างๆที่ธำรงศักดิ์นำมาอ้างอิงสนับสนุนแนวคิดตนก็เป็น "ตู่" อีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

ลักษณะดังกล่าวจึงเป็นเหมือนการสร้าง "ตู่ใหม่" ขึ้นมาล้มล้างความเชื่อของ "ตู่เก่า" หรือ จะกล่าวอีกนัย คือ เป็นการพยายามรวบรวมหลักฐานขึ้นมาเพื่อชี้ว่า "ตู่เก่า" เป็นความคิดผิดๆ ขอให้หันมาเชื่อ "ตู่ใหม่" กันเถิด.....นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น