บทความที่ได้รับความนิยม

วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555

กรณีพิพาทกับฝรั่งเศส (เหตุการณ์ร.ศ.112): การพลีชีพในอีสานเพื่อรักษาเขตแดนสยาม

โดย

พิทยะ ศรีวัฒนสาร


ผู้เขียนไม่เห็นด้วยที่มหาฤาษีตนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสันร่ายมนตราไว้ว่า รัฐสมัยเก่าไม่ถือการครอบครองดินแดนเป็นเรื่องสำคัญ อย่างน้อยกรณีพิพาทสยาม-อินโดจีนฝรั่งเศส (เหตุการณ์ร.ศ.112) ซึ่งปรากฏเรื่องราวอยู่ในเอกสารจำนวนมาก ก็สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของทางการสยามในการปกป้องพระราชอาณาเขตอย่างเต็มกำลังสามารถ


มูลเหตุของความขัดแย้งในเหตุการณ์ร.ศ.112 เบื้องต้นมาจากความพยายามขยายอิทธิพลของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสต่อเนื่องมาทางตะวันตกเข้าสู่ตะวันออกเฉียงเหนือของสยาม [1] พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ ผลงานการเรียบเรียงของหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) สะท้อนให้เห็นความเสียสละของข้าราชการไทยทั้งฝ่ายหัวเมือง ข้าราชการส่วนกลางและเจ้าพนักงานแผนที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ ณ ชายแดน เพื่อปกป้องเขตขัณฑสีมาขณะนั้นอย่างเต็มความสามารถ


กรณีพิพาทสยาม-อินโดจีนฝรั่งเศส (เหตุการณ์ร.ศ.112) ปรากฏเรื่องราวอยู่ในเอกสารจำนวนมาก มูลเหตุของความขัดแย้งมาจากความพยายามขยายอิทธิพลของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสต่อเนื่องมาทางตะวันตกเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสยาม [2] พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ ผลงานการเรียบเรียงของหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) สะท้อนให้เห็นสำนึกความหวงแหนอธิปไตยของมาตุภูมิและความเสียสละของข้าราชการไทยทั้งฝ่ายหัวเมือง ข้าราชการส่วนกลางและเจ้าพนักงานแผนที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ ณ ชายแดนขณะนั้น


สาเหตุเริ่มต้นเมื่อวันที่31มีนาคม พ.ศ.2436 “รัฐบาลฝรั่งเศสแต่งให้เรสิดองปัสตาเปนแม่ทัพ พร้อมด้วยนายร้อยเอกโทเรอ แลนายร้อยตรีโมโซ แลมองซิเออปรุโช คุมทหารญวนเมืองไซ่ง่อน200 คน แลกำลังเมืองเขมรพนมเปน ๆ อันมากลงเรือ 33 ลำ พร้อมด้วยสาตราวุธยกเปนกระบวนทัพขึ้นมาตามลำน้ำโขง เข้ามาในพระราชอาณาเขตร ขับไล่ทหารซึ่งรักษาด่านบงขลาแขวงเมืองเชียงแตง แลด่านเสียมโบก ยึดเอาด่านทั้ง 2 ตำบลได้แล้ว


วันที่ 2 เมษายน ร.ศ. 112 ฝรั่งเศสก็เคลื่อนทัพถึงเมืองเชียงแตง บังคับหลวงพิพิธสุนทร (อิน) และนายร้อยโทคร้ามข้าหลวงกับทหาร 12 คน ซึ่งอยู่รักษาเมืองเชียงแตงให้ข้ามไปอยู่ ณ เมืองธาราบริวัตรฝั่งโขงตะวันตก โดยอ้างเหตุว่า ดินแดนในฝั่งโขงตะวันออกและเกาะดอนในลำน้ำโขงเป็นเขตแขวงของญวนซึ่งอยู่ใน “บำรุงฝรั่งเศส”


เวลานั้น ข้าหลวง ผู้รักษาเมือง กรมการ และราษฎรเมืองเชียงแตงไม่ทันรู้ตัว“ก็พากันแตกตื่นควบคุมกันมิติด” เพราะไม่คิดว่าฝรั่งเศส“จะเปนอมิตรขึ้น” ดังนั้นก่อนที่จะประกาศแสดงขาดทางพระราชไมตรีฝ่ายข้าหลวงกับพลทหาร 12 คนจำต้องออกจากเมืองเชียงแตง ข้ามมาอยู่ ณ เมืองธาราบริวัตร ครั้นฝรั่งเศสได้เมืองเชียงแตงแล้ว ก็แต่งนายทัพนายกองคุมทหารแยกย้ายกันยกเป็นกระบวนทัพล่วงเข้ามาตั้งอยู่ตาม เกาะดอนต่าง ๆ ณ แก่งลีผี และเดินกระบวนทัพ เข้ามาโดยทางบก ตลอดฝั่งโขงตะวันออกจนถึงเมืองหลวงพระบาง


พระประชาคดีกิจ (แช่ม) ข้าหลวงส่วนหน้าหัวเมืองลาวฝ่ายใต้ ณ เมืองสีทันดร เห็นว่าฝรั่งเศสประพฤติผิดสัญญาทางพระราชไมตรี จึงให้ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือนในบังคับบัญชาคุมกำลังแยก ย้ายไปตั้งป้องกันกองทัพฝรั่งเศสไว้ แล้วมีหนังสือไปห้ามปรามกองทัพฝรั่งเศสตามทางพระราชไมตรี เพื่อให้ยกถอนกองทัพกลับออกไปเสียให้พ้นพระราชอาณาเขต


แต่ฝรั่งเศสกลับยกกองทหารรุดล่วงเข้ามา โดยทหารกองหนึ่ง มีกำลังอาวุธประมาณ 400 คนเศษ ยกมาทางเรือ 26 ลำ เข้าจอด ณ ดอนละงา แล้วขึ้นบกมาบนดอน ขณะนั้นหลวงเทเพนทรเทพ ซึ่งคุมกำลังยกไปตั้งอยู่ ณ ดอนนั้นจึงได้ออกไปบอกให้ฝรั่งเศสยกกองทัพกลับออกไปจากพระราชอาณาเขตสยาม ฝรั่งเศสกลับอ้างว่าที่ตำบลเหล่านั้นเป็นของฝรั่งเศส ให้หลวงเทเพนทร์ยกกำลังไปเสียถ้าไม่ไปจะรบ แล้วก็เป่าแตรเรียกทหารเข้าแถวเตรียมรบ


หลวงเทเพนทร์เห็นว่า ห้ามปรามทหารฝรั่งเศสไม่ฟัง จึงได้ถอยมาตั้งอยู่ ณ ดอนสม และแจ้งข้อราชการยังพระประชาคดีกิจ พระประชาคดีกิจจึ่งได้ “เขียนคำโปรเตศ”[3] ยื่นต่อฝรั่งเศส และลงเรือน้อยไปหาฝรั่งเศส ณ ค่ายดอนสาคร ถามได้ความว่า นายทหารฝรั่งเศสซึ่งเป็นแม่ทัพในกองนี้ ชื่อ เรสิดองโปลิติก และ กอมมันดองมิลิแตร์


พระประชาคดีกิจได้ยืนยันต่อนายทัพฝรั่งเศสว่า ที่ตำบลเหล่านี้เป็นพระราชอาณาเขตรสยาม การยกทัพล่วงเข้ามาเป็นการละเมิดสัญญาทางพระราชไมตรี ขอให้รีบยกทหารกลับออกไปเสีย


ฝ่ายนายทัพฝรั่งเศสตอบว่าราชทูตไทยที่ปารีสกับรัฐบาลสยามที่กรุงเทพ ฯ ได้ยอมยกที่ตำบลเหล่านี้ และดินแดนตามลำแม่น้ำโขงทั้งหมดให้แก่ฝรั่งเศสแล้ว


พระประชาคดีกิจจึงตอบว่า จะยอมเชื่อตามถ้อยคำของฝรั่งเศสมิได้ เพราะยังไม่ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลสยาม ขอให้ฝรั่งเศสยกทหารถอยออกไปเสียให้พ้นพระราชอาณาเขตก่อน แต่ฝรั่งเศสไม่ยอมถอนไป พระประชาคดีกิจ จึ่งยื่นคำ “โปรเตศ” ไว้ต่อนายทัพฝรั่งเศส แล้วลากลับมา


ฝ่ายฝรั่งเศสได้ยกทัพล่วงล้ำเข้ามาเป็นอันดับ และยังได้ระดมยิงกองทหารฝ่ายสยามซึ่งไปตั้งป้องกันรักษาขึ้นก่อน ถึงกระนั้น “กองรักษาฝ่ายสยาม” ก็หาได้ยิงโต้ตอบต่อสู้ไม่ โดยถือว่ากรุงฝรั่งเศสกับประเทศสยามยังมิได้ขาดจากสัญญาทางพระราชไมตรีกัน เพราะรัฐบาลสยามยังมิได้มีคำสั่งไปให้ต่อสู้ฝรั่งเศสประการใดไม่ จึงได้แต่เพียงให้ตั้งรักษามั่นอยู่ แลได้พยายามทุกอย่าง ที่จะมิให้มีความบาดหมางต่อทางพระราชไมตรี และทั้งได้มีหนังสือห้ามปรามไปด้วยแล้ว


แต่ฝรั่งเศสกลับระดมยิงปืนใหญ่น้อยมายังกองรักษาฝ่ายสยาม “เปนสามารถ” ฝ่ายสยามจึ่งได้ยิงโต้ตอบไปบ้างแต่เล็กน้อยโดยมิได้มีเจตนาที่จะทำลายชีวิตผู้คน เป็นแต่แสดงให้เห็นว่าฝ่ายไทยก็มีปืน แต่ฝ่ายฝรั่งเศสก็ยิ่งหนุนเนื่องรุกรบเข้ามาทุกที จนเจ้าหน้าที่ฝ่ายสยามเห็นว่าเหลือกำลังที่จะห้ามปรามและปฏิบัติจัดการโดยดีกับฝรั่งเศสได้แล้ว จึงจำเป็นต้องจัดกองรบออกระดมยิงต่อสู้บ้าง เพื่อรักษาความเป็นอิสรภาพและป้องกันชีวิตของประชาชนชายหญิงอันอยู่ในความปกครองไว้ “แลทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องอาวุธป่วยตายแลตั้งประชันหน้ากันอยู่”


การตอบโต้ของทางการสยาม


เมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวกาว ซึ่งประทับอยู่ ณ เมืองอุบล ทรงทราบว่าฝรั่งเศส “แสดงเปนอมิตร” ขึ้นดังนั้นแล้ว จึ่งได้โปรดให้เกณฑ์กำลังเมืองศรีสะเกษ เมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ เมืองมหาสารคาม เมืองร้อยเอ็ด (เมืองละ 800 คน) เมืองสุวรรณภูมิ เมืองยโสธร (เมืองละ500 คน) และให้เกณฑ์เมืองขุขันธ์อีก500คน ให้พระศรีพิทักษ์ (หว่าง) ข้า หลวงเมืองขุขันธ์คุมไปตั้งรักษาอยู่ ณ เมืองมโนไพร และเมืองเซลำเภา โปรดให้หลวงเทพนรินทร์ (วัน) ซึ่งกลับจากหน้าที่เมืองตะโปนไปเป็นข้าหลวงแทนพระศรีพิทักษ์อยู่เมืองขุขันธ์ และให้นายสุจินดา ขุนอินทรประสาท (กอน) นายร้อยตรีคล้าย นายร้อยตรีโชติ คุมทหาร 100คน และกำลัง 500 คน พร้อมด้วยสาตราวุธ เป็นทัพหน้า รีบยกออกจากเมืองอุบลแต่วันที่ 10 เมษายน ลงไปสมทบช่วยพระประชาคดีกิจ ณ เมืองสีทันดร


วันที่ 24 พฤษภาคม พระณรงค์วิชิต (เลื่อน) ได้ให้กำลังไปรักษาค่ายที่ดอนเดชไว้ตามเดิม และแต่งกองซุ่มไปอยู่ดอนตาล ดอนสะดำ คอยตีตัดมิให้ฝรั่งเศสเวียนเดินเรือเข้ามาในช่องได้
การใช้บทพระอัยการศึกจัดการกับทหารหนีทัพ


เพี้ยศรีมหาเทพ นครจำปาศักดิ พาพล 19 คนหนี อุปฮาด (บัว) เมืองกมลาไศรย ซึ่งตั้งค่ายอยู่ตำบลชลเวียงจับได้ พระประชาคดีกิจได้ปรึกษาโทษให้ประหารชีวิตตามบทพระอัยการศึก ฝ่ายนายทัพนายกองได้ขอชีวิตไว้ พระประชา (แช่ม) จึ่งได้ให้ทำโทษ เฆี่ยนเพี้ยศรีมหาเทพ 90ที พวกพลคนละ 30 ที


วันที่ 7สิงหาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้พระยาศรีสิงหเทพ (ทัด) ออกจากอุบล นำข้อราชการไปทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ณ เมืองนครราชสีมา และโปรดให้หลวงธนะผลพิทักษ์ (ดิศ) และ ขุนชาญรณฤทธิ (ชม) ข้าหลวงนครราชสีมาไปรับราชการมณฑลลาวกาว


การทำแผนที่พระราชอาณาเขตชายแดนอีสานใต้และตะวันออก


วันที่14 สิงหาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้นายเพิ่มพนักงานแผนที่ ไปตรวจทำแผนที่ตั้งแต่เมืองชาณุมานมณฑล ไปโขงเจียง ปากมูล และตามสันเขาบันทัด จนถึงช่องโพยแขวงเมืองขุขันธ์


วันที่ 3 กันยายน นายร้อยโทพุ่มได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เป็นนายร้อยเอก ขุนโหมหักปัจนึก นายร้อยตรีถมยา เป็นนายร้อยเอกขุนอึกอธึกยุทธกรรม


วันที่ 14 ตุลาคม นายร้อยตรีเชิด เป็นลมชิวหาสดมภ์ถึงแก่กรรม[4]


ครั้นวันที่ 11มิถุนายน เวลาบ่าย 4 โมง ฝรั่งเศสก็ระดม ยิงปืนใหญ่น้อยกระสุนแตกมาที่ค่ายสยาม ณ ดอนเดช 15 ครั้งแล้วก็สงบไป


ครั้นเวลาย่ำรุ่งฝรั่งเศสยิงอิกพักหนึ่ง จนโมงเช้าจึ่งหยุด ครั้นเวลาเย็นฝรั่งเศสยิงปืนใหญ่มา 1 นัด แลยิงปืนเล็ก 20 ตับ แล้วก็สงบไป


วันที่14มิถุนายนฝรั่งเศสยิงปืนเล็กกราดมาจากดอนคอน 10 ตับ เวลาเที่ยงยิง 6 ตับ เวลาบ่ายยิงปืนใหญ่1นัด ที่ค่ายดอนช้าง 1นัด แล้วต่างก็สงบไป


วันที่16 มิถุนายน เวลาเช้าฝรั่งเศสยกกองทหารขึ้นดอนเดช ถึงหัวดอนเดชตรงค่ายไทยที่ดอนหางสม เมื่อปักธงฝรั่งเศสลงแล้ว dHเป่าแตรให้ทหารระดมยิงค่ายหางสม ฝ่ายไทยได้ยิงโต้ตอบอยู่ประมาณชั่วโมงเศษ แล้วกองทหารฝรั่งเศสก็ล่าถอยกลับไป


ในค่ำวันที่16มิถุนายน คนตระเวนฝ่ายกองทัพไทยไปพบหนังสือที่ฝรั่งเศสปักไว้ ที่ดอนนางแอ่นจึงนำมาส่งพระประชา ในหนังสือนั้นเซ็นชื่อ กอมมันดันเดลาวิเล แม่ทัพฝรั่งเศส ถึงแม่ทัพไทยความว่า


“ดอนสมแลเกาะดอนฝั่งตวันออกเปนของฝรั่งเศส ให้ฝ่ายไทยถอยทัพไปเสีย ถ้าไม่ฟังจะขับไล่ พระประชาจึ่งตอบไปว่า ฝรั่งเศสฝันเห็นเอาเองผิดจากถ้อยคำของคนที่ถือสาสนาคฤส เตียน ถ้าฝรั่งเศสขืนบุกรุกมา ชาวประเทศสยามก็จำต้องต่อสู้มิให้ฝรั่งเศสดูหมิ่นได้”


จากนั้นพระประชาได้ให้นายสุกนายสิงปลอมเข้าไปในค่ายฝรั่งเศส กลับมาแจ้งว่าฝรั่งเศสกำลังหามเรือข้ามแก่งสมพมิตรมาแต่ท่าสนาม 17 ลำ และแต่งเรือเตรียมทัพจะยกอ้อมดอนตาลขึ้นทางฝั่งตะวันตกมาตีตัดหลังค่ายดอนสม ขนาบกับทัพบกจึงจะเดินมาทางดอนเดช พระประชาก็ได้จัดให้นายทัพนายกอง แยกย้ายกันออกไปตั้งกองรับกองทัพฝรั่งเศสทุกด้าน
……………………………………………………………………………………
หลังเหตุการณ์ร.ศ.112 สยามต้องเสียดินแดนจำนวนหนึ่งแก่รัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศส นอกจากหลักฐานประวัติศาสตร์จะบันทึกของความเจ็บปวดที่ผู้ปกครองสยามได้รับแล้ว ราษฎรอาสาสมัครและทหารจำนวนไม่น้อยสักข้อความแสดงให้เห็นถึงความเจ็บปวดจากความสูญเสียดังกล่าวด้วยข้อความว่า “ร.ศ.112”


ความรู้สึกผูกพันต่อบูรณาการของเขตแดนและความหวงแหนอธิปไตยในอดีตเป็นอารมณ์ที่เคยเกิดขึ้น แต่ช่างน่าอับอายเหลือเกิน เมื่อเวลาผ่านไปเพียง 100 ปีเศษ กลับมีมหาฤาษีและสานุศิษย์ผูกเรื่องโยงหลักฐาน เสนอนิทานแนวมาร์กซิสม์แล้วบอกต่อลูกหลานของบรรพบุรุษผู้พลีชีพรักษาพระราชอาณาเขตสยามขณะนั้นว่า “สยามไม่เคยเสียดินแดนดังกล่าว เพราะสยามไม่เคยครอบครองดินแดนนั้นๆ มาก่อน”

การอ้างอิง
[1] คัดจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ เมื่อปีเถาะ สัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ อ้างใน http://th.wikisource.org/wik ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง

[2] คัดจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ เมื่อปีเถาะ สัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ อ้างใน http://th.wikisource.org/wik ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง

[3] ประท้วง
[4] ลมชิวหาสดมภ์ ป็นโรคลมที่อยู่ในกลุ่มของลมสุมนา หรือ สุสมนา มีอาการสำคัญ คือ ลิ้นกระด้าง คางแข็ง เซื่องซึม เจรจามิได้ (ขอขอบคุณ http://www.healthbe1st.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539186963&Ntype=1)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น